Popular Posts

Wednesday, March 6, 2013

โรคนิ่วป้องกันอย่างไร

โรคนิ่วป้องกันอย่างไร

นิ่ว คือก้อนหินเล็กๆ ซึ่งเกิดจากการจับตัวกัน ของผลึกซึ่งตกเป็นตะกอน ที่อยู่ในน้ำปัสสาวะที่เข้มข้น รวมตัวกันเป็นนิ่วเกิดขึ้นในไต ซึ่งนิ่วที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเคลื่อนหลุดออกมาที่ท่อไต และลงไปในกระเพาะปัสสาวะ นานวันขึ้นขนาดของนิ่ว ก็จะมีโอกาสที่จะโตมากขึ้น ถ้านิ่วที่อยู่ในไตนั้น ไม่เคลื่อนหลุดออกมา
อุบัติการณ์
                    โรคนิ่วสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบในเพศชาย มากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า
                    เกิดได้กับทุกชนชาติทุกภาษา มักพบในประเทศเขตร้อน มากกว่าเขตหนาว พบในหน้าร้อนมากกว่าหน้าหนาว อาหารก็มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคนิ่ว อาชีพที่ทำงานกลางแดด ทำงานอยู่หน้าเตาไฟมีโอกาสเป็นมากกว่า

สาเหตุขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
                    ความเข้มข้นของผลึกที่มีอยู่ในน้ำปัสสาวะ คือ ถ้ามีความเข้มข้นมาก ก็มีโอกาสที่นิ่วจะก่อตัวมากขึ้นนั้น หมายความว่าถ้าดื่มน้ำมาก จะทำให้ความเข้มข้น ของผลึกเหล่านั้นลดลงด้วย ความเป็นกรด-ด่าง ของน้ำปัสสาวะ สารระงับการตกตะกอนในน้ำปัสสาวะ

อาการ
                    นิ่วมักจะทำให้มีอาการปวดที่เอวและ / หรือท้องน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของนิ่ว ตำแหน่งของการอุดตัน เช่น นิ่วที่อยู่ในท่อไตจะมีอาการปวด ได้มากกว่านิ่วที่อยู่ในไต อาการปวดนี้จะปวดตลอดเวลา หรือ ปวดเป็นๆ หายๆ ได้

การตรวจวินิจฉัย

                    การใช้เอ็กซเรย์ IVP เพื่อดูหน้าที่และต่ำแหน่งของนิ่วที่มีการอุดตัน

การรักษา
                    ขึ้นกับขนาดของนิ่ว ต่ำแหน่งของนิ่วและผลต่อการทำงานของไต นิ่วมีขนาดเล็กประมาณ 4 มิลลิเมตร มักจะสามารถหลุดออกไปได้เอง นิ่วที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีผลทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี หรือนิ่วที่ไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ มีแนวทางรักษาหลายอย่าง คือ

1. การสลายนิ่ว (ESWL)
          EXTRACORPOREAL SHOCKWAVE LITHOTRIPSY
                    โดยการใช้พลังงาน Shock wave ไปสู่ตัวนิ่วที่แข็ง ทำให้นิ่วที่แข็งเกิดการแตกตัว เป็นเศษนิ่วเล็กๆ และไหลหลุดออกมาเองทางท่อไต

2. การส่องกล้องในท่อไต (URETERORENOSCOPY)
                    โดยใช้กล้องส่องขนาดเล็กผ่านทางท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และขึ้นไปในท่อไตจนถึงตำแหน่งของนิ่ว จากนั้นทำการคีบ หรือคล้องนิ่วออกมา ถ้านิ่วเม็ดค่อนข้างใหญ่ อาจต้องใช้เครื่องมือสลายนิ่วให้แตกก่อน แล้วคีบออกมา เหมาะสำหรับนิ่วในท่อไต

3. การเจาะไต
           (PERCUTANEOUS NEPHROLITHOTRIPSY)
                    โดยการใช้กล้องส่องเข้าไปในไตโดยตรง โดยการเจาะจากทางด้านหลัง ของลำตัวใกล้ตำแหน่งของไต เมื่อกล้องส่องในไตจนเห็นนิ่ว จะทำการสลายนิ่วจนเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วคีบออก เหมาะสำหรับนิ่วในไต ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่

4. การทำผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออก
                    เป็นวิธีดั้งเดิมที่เคยใช้อยู่ในอดีต ก่อนที่จะมีเครื่องมือ และวิธีการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ที่ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษา ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบนี้

การป้องกัน
                    วิธีที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับทั่วไป คือ การดื่มน้ำมากๆ เพื่อเป็นการเจือจาง และลดความเข้นข้นของผลึก ที่อาจจะตกตะกอนรวมตัวกัน เป็นก้อนิ่วได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องนำนิ่วมาตรวจวิเคราะห์ หาส่วนประกอบของตัวนิ่ว เพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ร่วมกับเลือดและปัสสาวะ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการป้องกัน การเกิดโรคนิ่วใหม่ในนิ่วบางชนิด

บทความจาก http://www.baanjomyut.com/library/health/006.html คลิปจาก youtube

No comments:

Post a Comment