Popular Posts

Monday, March 4, 2013

ข้อดีข้อเสียของการกินยาคุม


ข้อดีข้อเสียของการกินยาคุม

โดย พล.ต.รศ.นพ.นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและ ผ่าตัดทางนรีเวช





ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน เป็นยาเม็ดที่ป้องกันการตั้งครรภ์โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ของรังไข่ ในยา 1 เม็ดจะประกอบด้วยสารเคมีสังเคราะห์ 2 อย่างที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนพื้นฐานของรังไข่ และฮอร์โมน
โปรเจสเตอโรนซึ่งเป็นฮอร์โมนซึ่งเป็นฮอร์โมนของรังไข่ช่วงหลังไข่ตก การให้ยาที่มีฤทธิ์ 2 อย่างนี้เข้าไปในร่างกาย ยาจะไปยับยั้งฮอร์โมนของสมองและต่อมใต้สมองไม่ให้มากระตุ้นรังไข่ จึงทำให้ไม่มีการตกไข่  ในขณะเดียวกันยาทั้ง 2 ตัวนี้ก็จะทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียว เชื้ออสุจิจึงผ่านเข้าไปถึงในมดลูกและท่อนำไข่ได้ลำบาก และเมื่อให้ไปหลายๆ เดือนก็จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน สรุปก็คือยามีฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลายด่าน


ฤทธิ์ของยาจะออกผลป้องกันการตกไข่ได้เต็มที่ภายใน 7 วันนับตั้งแต่เริ่มรับประทานยาในแต่ละรอบ ดังนั้นเมื่อรอบการตกไข่ปกติจะประมาณวันที่ 14-15  +2 วัน นับจากประจำเดือนมาวันแรก ดังนั้นจึงควรเริ่มรับประทานยาภายใน 5 วันนับจากมีประจำเดือนวันแรกจึงจะมั่นใจในประสิทธิภาพการคุมกำเนิดของยา ถ้าเริ่มรับประทานเลยวันที่ 7 ของรอบประจำเดือน เราก็จะไม่มั่นใจการออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ได้ทันหรือไม่ ในกรณีนี้จึงควรคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมไปด้วยจนกว่าจะรับประทานยาครบ 7 วันแล้ว

วิธีรับประทาน
ให้เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดหลังจากเริ่มมีประจำเดือนไม่เกินวันที่ 5 ยิ่งเริ่มเร็วยาออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ก็ยิ่งเร็วขึ้น แพทย์มักแนะนำให้เริ่มรับประทานยาเม็ดแรกภายในวันที่ 2-5 ของรอบประจำเดือน (ไม่แนะนำเริ่มในวันแรก เพราะวันแรกที่เลือดออกไม่แน่ใจว่าจะเป็นเลือดประจำเดือนจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นวันที่ 2-3 ก็มั่นใจ) โดยรับประทานยาวันละ 1 เม็ด เวลาใดก็ได้เป็นประจำ และควรเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวันเพื่อให้ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสม่ำเสมอ

แพทย์มักแนะนำให้รับประทานก่อนนอน เพราะตอนนอนจะไม่มีอะไรอยู่ในความครุ่นคิดแล้ว และคนเรามักจะนอนในบ้านตนเองจึงไม่ค่อยลืม ไม่ต้องคอยพกยาเพราะยาจะอยู่ในบ้านอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งคนที่เริ่มรับประทานยาใหม่ๆ อาจมีผลข้างเคียงประเภทคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะได้ อาการดังกล่าวจะได้เป็นตอนที่นอนหลับแล้วทำให้ไม่เป็นผลต่อการดำเนินชีวิต (บางคนเป็นมากก็อาจจะเป็นทั้งวันซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนไป)

ในกรณีที่รับประทานยาอยู่แล้วเกิดลืม ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ เช่น ถ้าลืมรับประทานยาตอนก่อนนอนนึกขึ้นได้  ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นให้รีบรับประทานยาทันที แล้วกลางคืนก็ให้รับประทานยาเม็ดต่อไป ถ้านึกขึ้นได้ตอนกลางคืนก็ให้รับประทานควบกันไปเป็น 2 เม็ด

ถ้าลืมรับประทาน 2 วันก็ให้รับประทานควบกันเป็น 3 เม็ด หรือคืนละ 2 เม็ด 2 คืนติดกันแล้วคืนต่อไปก็รับประทานยาตามปกติ แต่ช่วง 4-5 วันหลังจากที่ลืมนี้ให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพื่อความมั่นใจประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดของยา   แต่ถ้าลืมเกิน 3 วัน ผลของยาคุมกำเนิดจะไม่ดี และมักจะทำให้รอบเดือนมาไม่ปกติ จึงแนะนำว่าให้รับประทานวันละ 2 เม็ด ควรชดเชยไปจนครบที่ลืม อาจจะแบ่งรับประทานเช้า 1 เม็ด และ ก่อนนอน 1 เม็ด หรือก่อนนอน 2 เม็ด และในรอบนั้น ให้คุมกำเนิดวิธีอื่นควบคู่ไปด้วย

บางคนเมื่อลืมรับประทานเกิน 3 วัน จะมีเลือดออกด้วย แนะนำให้รับประทานยาต่อไปจนหมดแผงในกรณีที่ยาเหลือไม่กี่เม็ดแล้วก็เริ่มแผงใหม่ตามปกติ แต่ถ้าเป็นกลางแผงแนะนำให้หยุดยา 7 วัน และเริ่มแผงใหม่ระหว่างที่หยุดยาและรับประทานยาแผงใหม่ยังไม่ครบ 7 วันให้คุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย
ปกติแล้วยาคุมกำเนิดจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นแผง มี 2 ชนิด คือ แผงละ 21 เม็ด และแผงละ 28 เม็ด ทั้ง 2 ชนิดจะมีตัวยาที่เหมือนกัน 21 เม็ด แต่ชนิดที่เป็นแผง 28 เม็ดจะเป็นยาหลอกหรือวิตามินเพิ่มอีก 7 เม็ด บนแผงแต่ละเม็ดจะมีตัวอักษร วันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ กำกับอยู่ การเริ่มรับประทานก็ให้เริ่มตรงเม็ดที่ตรงกับวันของสัปดาห์วันนั้นที่ตรงต้นๆ แผง แล้วรับประทานเรียงกันไปในแต่ละวัน
สำหรับชนิดที่เป็นแบบแผงละ 21 เม็ดก็เริ่มรับประทานเรียงกันไปจนครบ 21 วัน ก็เว้นอีก 7 วัน พอวันที่ 8 ก็เริ่มรับประทานใหม่  วิธีสังเกต คือ ถ้าเราเริ่มรับประทานแผงแรกที่วันไหน เช่น เริ่มต้นที่วันพุธ แผงต่อไปก็จะเริ่มที่วันพุธเหมือนกัน ระหว่างช่วงที่เว้นรับประทานยา 7 วันนั้นจะมีประจำเดือนมา (มักจะเริ่มมาหลังจากหยุดยาแล้ว 3-4 วัน)

ถ้าเริ่มรับประทานแบบแผงละ 28 เม็ด ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดยา 7 วันเหมือนแบบชนิดแผงละ 21 เม็ด เมื่อรับประทานไปจนถึงส่วนที่เป็นยาหลอก 7 เม็ด จะมีประจำเดือนมาก็ให้รับประทานยาไปเรื่อยๆจนครบแผง แล้วก็เริ่มแผงใหม่ในวันต่อมาเลย

ยาทั้ง 2 ชนิดจะให้ประสิทธิภาพเท่ากัน เพียงแต่ชนิดแผงละ 28 เม็ดต้องรับประทานทุกวันเพื่อจะไม่ลืมรับประทานแผงใหม่หลังจากเว้นแผงเก่า ในระหว่างรับประทานยาคุมกำเนิดประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอและมาน้อยลง คนที่เคยมีอาการปวดประจำเดือนอาจจะทุเลาลง หรือหายปวดได้  ถ้ารับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกต้องจะสามารถคุมกำเนิดได้เกือบ 100% มีโอกาสผิดพลาดตั้งครรภ์ได้ 0.4% ต่อปี เมื่อรับประทานยาตามที่แนะนำมาดังกล่าวแล้วจะมีเพศสัมพันธ์กันวันไหนก็เรียกได้ว่าไม่มีโอกาสตั้งครรภ์

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด
ผลค้างเคียงของยาคุมกำเนิดที่พบบ่อย คือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ไม่สบายเนื้อสบายตัว บวม น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอก (อาการอื่นๆ ปลีกย่อยให้ดูในเอกสารกำกับยา) มักจะเป็นในระยะแรกๆ ของการเริ่มรับประทานยา (3 แผงแรก)
ถ้าทนได้หลังจากนั้นก็จะคุ้นเคยกับยามากขึ้นไม่มีอาการอะไร
ผลเสียของยาคุมกำเนิด
- อาจทำให้มีความผิดปกติของไขมันในเลือด
- การแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ ไม่ดีสำหรับคนที่มีประวัติเคยมีเส้นเลือดดำอุดตัน
- คนที่เป็นเนื้องอกมดลูก เนื้องอกเต้านม จะให้เป็นมากขึ้น
- ยานี้จะถูกทำลายที่ตับ ถ้ามีโรคตับอยู่จะทำให้ตับอักเสบขึ้นได้
คนที่ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิด
1. มีไขมันในเลือดสูง มีความดันโลหิตสูง
2. มีประวัติเส้นเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ
3. มีก้อนที่เต้านมไม่ทราบสาเหตุ เป็นมะเร็งเต้านม
4. เนื้องอกมดลูก
5. เป็นโรคตับ ตับทำงานไม่ดี
6. อายุมากเกิน 45 ปีขึ้นไปยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน จะมีส่วนประกอบคล้ายกับยาคุมกำเนิด แต่จะมีปริมาณสารเคมีที่มากกว่ายาคุมกำเนิดแบบธรรมดา ให้รับประทานก่อนหรือหลังมีการร่วมเพศไม่เกิน 12 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้งโดยและครั้งให้ห่างกัน 12 ชั่วโมง อาจจะช่วยให้ไม่ให้ตั้งครรภ์ได้ แต่ป้องกันไม่ได้ 100% และทำให้เลือดออกผิดปกติ เกิดความสับสนขึ้นได้ว่าเลือดที่ออกเป็นเลือดที่เกิดจากอะไร ควรรับประทานยาคุมกำเนิดแบบธรรมดามากกว่า

No comments:

Post a Comment